บทความ เรื่อง เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการบูรณาการข้ามศาสตร์ กับมหาวิทยาลัยในศตวรรษที่ 21

โดยผู้ช่วยศาสตราจารย์ สมบัติ อยู่เมือง
ศูนย์วิจัยภูมิสารสนเทศเพื่อประเทศไทย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย [ GISTHAI ]
e - mail : sombat@gisthai.org

บทความนี้จะกล่าวถึงมหาวิทยาลัยในมิติที่แตกต่างจากกรอบแนวคิดเชิงรัฐศาสตร์ ด้านกฎระเบียบ หรือด้านการบริหารจัดการ ซึ่งเกี่ยวข้องกับการออกนอกระบบหรือไม่ของมหาวิทยาลัยที่มีผู้กล่าวถึงไว้ แล้วอย่างมากมาย โดยบทความนี้จะมองข้ามเลยไปที่กรอบของอนาคตในศตวรรษที่ 21ของมหาวิทยาลัย ที่มีข้อจำกัดทั้งในเชิงทรัพยากรบุคคล(อาจารย์)ที่คงจะต้องมีองค์ความรู้ เชิงบูรณาการข้ามศาสตร์มากขึ้น โดยอาศัยเทคโนโลยีสารสนเทศ (Information Technology : IT) มาช่วยในการบริหารจัดการด้านการเรียนการสอนและการวิจัย ซึ่งเทคโนโลยีสารสนเทศที่ว่านี้ คงไม่ใช่เฉพาะการมีฮาร์ดแวร์ ซอฟต์แวร์ และเครือข่าย เป็นหลักเท่านั้น การมีสาระเนื้อหาวิชา (Content) ที่สามารถนำไปใช้ได้จริงในการเรียนการสอนและการวิจัยเพื่อให้เกิดการพัฒนา ประเทศที่ยั่งยืนนั้น ดูจะเป็นหลักที่สำคัญมากกว่าต่อการยกระดับมาตรฐานมหาวิทยาลัยในอนาคต เพราะสาระเนื้อหาทางวิชาการที่ดีและเหมาะสมที่จะใช้พัฒนาประเทศในแต่ละ พื้นที่ ในแต่ละช่วงเวลาอย่างเป็นพลวัตนั้น คงจะหาซื้อไม่ได้ง่ายๆและใช้งานได้ทันที่เหมือนการจัดหาฮาร์ดแวร์ ซอฟต์แวร์ และเครือข่าย อย่างแน่นอน

ปัจจุบัน ประเทศไทยนับได้ว่ากำลังอยู่ในช่วงที่เพิ่งผ่านพ้นการเปลี่ยนผ่านแห่งยุค สมัย จากความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในยุคโลกาภิวัตน์ (Globalization) และจากการปฏิวัติทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ รวมไปถึงผลกระทบจากการวิกฤตเศรษฐกิจ (ในปี พ.ศ. 2540) ที่เพิ่งผ่านพ้นมาไม่นานนัก ปัจจัยแห่งกระแสการเปลี่ยนแปลงในหลายๆ ประการดังกล่าว ก่อให้เกิดการปฏิวัติ เปลี่ยนแปลง รูปแบบ วิถีชีวิตของผู้คนจำนวนมาก ไม่เว้นแม้กระทั่งองค์กรทั้งองค์กรภาครัฐและองค์กรภาคเอกชน ที่ต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบในการทำงาน ไปจนกระทั่งการปรับโครงสร้างขององค์กร โดยเฉพาะการปฏิรูประบบราชการ ที่ถือว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ส่งผลกระทบต่อประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ ทั้งทางตรง (ข้าราชการกว่า 2 ล้านคน) และทางอ้อม (ประชาชนกว่า 60 ล้านคนทั้งประเทศ)

สถาบัน การศึกษาโดยเฉพาะมหาวิทยาลัยต่างๆ ก็มิอาจล่วงพ้นกระแสแห่งการเปลี่ยนไปได้เฉกเช่นเดียวกัน กระแสวิตกในเรื่องของการปฏิรูประบบราชการ การปฏิรูปการศึกษา ไปจนกระทั่งการนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบราชการ จึงเป็นหนึ่งในประเด็นที่สร้างความวิตกกังวลให้กับผู้ที่เกี่ยวข้องทุกคน อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ อย่างไรก็ตาม ในกระแสแห่งการเปลี่ยนแปลงนั้น ถือได้ว่าเป็นทั้งวิกฤตและเป็นทั้งโอกาส ซึ่งเฉพาะผู้ที่เตรียมพร้อมรับมือกับความเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอเท่านั้น ที่จะสามารถฉกฉวย ช่วงชิงเอาประโยชน์ และสร้างความได้เปรียบจากกระแสแห่งความเปลี่ยนแปลงนั้นไว้ได้

ทันที ที่มหาวิทยาลัยต่างๆ ก้าวพ้นออกนอกระบบราชการ การแข่งขันที่เข้มข้น รุนแรงเพื่อช่วงชิงลูกค้า (ซึ่งส่วนใหญ่ก็คือบรรดาเหล่านักเรียน นิสิต นักศึกษานั่นเอง) ก็จะทวีความรุนแรงมากขึ้นกว่าในปัจจุบันอีกมากมายหลายเท่านัก ซึ่งในอนาคตอันใกล้นี้ ตลาดการศึกษาในระดับอุดมศึกษา จะขยายตัวอย่างมหาศาล จากการที่กฎหมายตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 กำหนดให้ประชาชนผ่านการศึกษาภาคบังคับ 9 ปี และยังจะต้องให้บริการการศึกษา 12 ปีโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ดังนั้น ขีดความสามารถในการรองรับนิสิตนักศึกษาที่จะทะลักเข้ามาจากระบบโรงเรียนนั้น ทรัพยากรต่างๆ ที่มหาวิทยาลัยมีอยู่จะเพียงพอหรือไม่อย่างไร ซึ่งแนวทางในการแก้ปัญหาดังกล่าว ก็หนีไม่พ้นการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยเหลือ และสนับสนุนในการเรียนการสอน โดยเฉพาะเทคโนโลยีสารสนเทศ ซึ่งเป็นที่นิยมแพร่หลายมากที่สุด

หนึ่ง ในรูปแบบของเทคโนโลยีสารสนเทศ ที่ถูกนำมาประยุกต์ใช้เพื่อสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันกันอย่างแพร่หลาย และแทบจะทุกมหาวิทยาลัย ต่างก็เร่งพัฒนาเพื่อช่วงชิงความเป็นผู้นำ คือ ระบบการเรียนการสอนผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ หรือ E - Learning หรือ E - Education (E ย่อมาจาก Electronic ) นั่นเอง ซึ่งข้อดีของเทคโนโลยีการเรียนการสอนผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์นั้น คงเป็นที่ทราบหรือรับรู้กันดีอยู่แล้ว ทั้งในด้านของความสะดวก (เรียนได้ทุกที่ทุกเวลา) รวดเร็ว (สื่อสารหรือค้นหาข้อมูลได้อย่างรวดเร็ว) ประหยัด (ต้นทุนหรือค่าใช้จ่ายต่ำกว่า) และสามารถแก้ไขปัญหาทางด้านการขาดแคลนทรัพยากรที่ใช้ในการเรียนการสอนได้ เช่น ครู อาจารย์ หรืออุปกรณ์การเรียนต่างๆ ให้สามารถรองรับผู้เรียนจำนวนมากได้ โดยเฉพาะในปัจจุบันที่เทคโนโลยีทางด้านข้อมูลข่าวสาร ซอฟต์แวร์ ฮาร์ดแวร์ และเทคโนโลยีระบบเครือข่าย (อินเตอร์เน็ต) ได้ก้าวรุดหน้าไปอย่างรวดเร็ว และที่สำคัญซึ่งเป็นสิ่งที่หลายๆ คนคาดหวัง คือ E - learning จะสามารถลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาของกลุ่มคนในประเทศลงได้ อย่างไรก็ตาม E - learning ในความหมายที่คนส่วนใหญ่นึกถึงนั้น มิได้เป็นเพียงแค่การนำบทเรียน หนังสือ รูปภาพ แบบการเรียนการสอน หรือเอกสารทางวิชาการ เข้าไปใส่ไว้ในคอมพิวเตอร์หรือในอินเตอร์เน็ต ที่ผู้ใช้สามารถเชื่อมต่อเข้าไปศึกษาหาความรู้ได้จากทุกที่ตลอดเวลา เพียงแค่มีคอมพิวเตอร์กับสายโทรศัพท์เท่านั้น ซึ่งแนวความคิดที่ดังกล่าวแม้จะไม่มีข้อผิดพลาด แต่ก็ไม่ถือว่าถูกต้องเสียทั้งหมด โดยเฉพาะอย่างยิ่งการให้ความสำคัญกับกลยุทธ์ (Strategic) และการจัดวาง ยุทธศาสตร์ในการนำ E - Lerning ไปใช้ ซึ่งถือว่าเป็นปัจจัยชี้ขาดแห่งความสำเร็จทั้งมวล ซึ่งรูปแบบการนำไปใช้ สามารถแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ ได้ดังนี้
  1. การนำไปใช้เพื่อเสริม เพิ่มเติม หรือเพิ่มประสิทธิภาพในการเรียน ในลักษณะของเครื่องมือสนับสนุนการเรียนการสอน การศึกษา ค้นคว้า และการแลกเปลี่ยนความรู้
  2. การนำไปใช้ในลักษณะของการแทนที่การเรียนการสอนแบบเดิม (Replacement) ทั้งหมด
การ นำ E - learning ไปประยุกต์ใช้นั้น คนส่วนใหญ่เข้าใจกันว่า E - learning จะไปทดแทนการเรียนการสอนในรูปแบบเดิมๆ ทั้งหมด (Replacement) ในที่สุด ซึ่งผู้เรียนสามารถเรียนจากที่ใดก็ได้ในเวลาที่สะดวก และไม่จำเป็นต้องเดินทางมายังสถาบันการศึกษา หรือไม่จำเป็นต้องพบหน้าครูผู้สอนแต่อย่างใด ซึ่งแนวทางดังกล่าว ถูกมองว่าเป็นการลดบทบาท ความสำคัญของครูผู้สอน หรืออาจารย์ให้ลดลง ซึ่งความคิดดังกล่าว ไม่เพียงแต่ไม่ถูกต้องเท่านั้น แต่ยังสวนทางอย่างสิ้นเชิงกับความเป็นจริง ซึ่งบทบาทของครูผู้สอนหรืออาจารย์ในยุคของ E - learning กลับยิ่งทวีความสำคัญมากยิ่งๆ ขึ้นไป แต่เป็นความสำคัญในบทบาทใหม่หรือสถานะใหม่ จากการเป็นผู้ป้อนความรู้หรือเนื้อหาวิชา (Content) ให้โดยตรง ไปเป็นผู้ให้คำชี้นำชี้แนะ ในการเข้าถึงแหล่งความรู้ เป็นผู้สร้างและสังเคราะห์ความรู้ที่สามารถแบ่งปันให้กับผู้เรียน โดยการนำความรู้ การเชื่อมโยงแหล่งความรู้มาประกอบเป็นบทเรียนที่ให้ผู้เรียนสามารถเข้าถึง ได้ ซึ่งถือเป็นการเพิ่มทักษะของการได้มาซึ่งข่าวสารข้อมูล การวิเคราะห์ตีความ และการนำข่าวสารข้อมูลที่ผ่านกระบวนการวิเคราะห์ ไปใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อตนเอง ต่อสังคม ต่อประเทศชาติในที่สุด ซึ่งสิ่งต่างๆ เหล่านี้ถือเป็นองค์ประกอบ หรือเป็นกุญแจแห่งความสำเร็จ (Key Success Factor) ที่สำคัญที่สุดของการเรียนการสอน เหนือกว่าองค์ประกอบทางด้านเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ เครือข่ายความเร็วสูง หรือซอฟต์แวร์ช่วยสอนที่ถูกออกแบบมาอย่างวิจิตรบรรจง

ความ แตกต่างทางด้านเทคโนโลยีในการเข้าถึงเนื้อหาวิชา ความรู้ หรือข้อมูลข่าวสารนั้น ในอนาคต จะไม่มีความแตกต่างกันมากนัก เพราะองค์กรภาครัฐเอง ก็ได้มีการจัดทำโครงการเครือข่ายสารสนเทศเพื่อการศึกษาแห่งชาติ( National Education Network หรือ ED-Net ) ซึ่งเป็นโครงการพัฒนาเครือข่าย Internet ให้บริการกับสถานศึกษาทั่วประเทศให้สถานศึกษาทุกระดับสามารถเข้าถึง Internet ได้อย่างเท่าเทียมกัน โดยให้สถานศึกษาเสียค่าใช้จ่ายน้อยที่สุด โดยโครงการนี้เป็นการใช้ทรัพยากรร่วมกันระหว่างทบวงมหาวิทยาลัยและกระทรวง ศึกษาธิการ โดยการสนับสนุนจากกระทรวงคมนาคม เพื่อรองรับการปฏิรูปการศึกษาที่กระทรวงศึกษาธิการ และ ทบวงมหาวิทยาลัย จะรวมเป็นกระทรวงเดียวกัน โดยอาศัยเครือข่าย UNINet ของทบวงมหาวิทยาลัยที่มีอยู่แล้ว เป็น Backbone

อย่าง ไรก็ตามปัญหาทางด้านเครื่องมือ คอมพิวเตอร์ หรืออุปกรณ์และช่องทางในการสื่อสารนั้น นับว่าเป็นปัญหาเพียงเล็กน้อย เมื่อเทียบกับปัญหาในการจัดทำเนื้อหาวิชา (Content) ซึ่งไม่เพียงต้องอาศัยนักพัฒนาโปรแกรม หรือช่างเทคนิคที่มีความเชี่ยวชาญทางคอมพิวเตอร์อย่างเช่นในอดีตที่ผ่านๆ มาเท่านั้น แต่ต้องอาศัยทีมงานที่พร้อมเพรียง ได้แก่ ผู้สร้างเนื้อหาหรืออาจารย์ผู้สอน นักออกแบบการสอนทางคอมพิวเตอร์ นักออกแบบทางด้านกราฟิก (Graphic) ทำงานร่วมกันกับนักพัฒนาโปรแกรม (Programmer) และผู้เชี่ยวชาญทางด้านสื่อ ฯลฯ เข้ามาทำงานร่วมกัน จึงจะสามารถสร้างสื่อการเรียน อิเล็กทรอนิกส์ที่มีประสิทธิภาพในการเรียนรู้ได้ ซึ่งทบวงมหาวิทยาลัยที่ถือเป็นหน่วยงานกลางที่ดูแลการศึกษาในระดับอุดมศึกษา นั้น ควรเข้ามารับหน้าที่ในการจัดทำเนื้อหาวิชาดังกล่าวโดยอาศัยทรัพยากรบุคคลที่ มีความสามารถจากมหาวิทยาลัยต่างๆ มาทำเนื้อหาวิชาร่วมกัน(โดยเฉพาะอย่างยิ่งเนื้อหาวิชาพื้นฐานที่นักศึกษา ส่วนใหญ่ต้องลงทะเบียนเรียน) แม้ว่าจะไม่เคยมีวัฒนธรรมการทำงานในลักษณะดังกล่าวนี้มาก่อนก็ตาม แต่ก็ใช้ว่าจะเกิดขึ้นไม่ได้ ถ้ามีการบริหารจัดการที่เป็นระบบและมีแรงจูงใจที่ดี ทั้งนี้เพื่อเป็นการสร้างมาตรฐานในการเข้าถึงเนื้อหาวิชาที่มีมาตรฐานเท่าเทียมกัน และยังเป็นการลดความซ้ำซ้อนในการจัดทำเนื้อหา ซึ่งค่าใช้จ่ายในการจัดทำเนื้อหาในแต่ละครั้ง แต่ละวิชาค่อนข้างสูง และจะเป็นการสิ้นเปลืองอย่างมหาศาลถ้าต้องทำซ้ำซ้อนกัน

นอก จากนี้ทบวงมหาวิทยาลัย ยังสามารถเป็นศูนย์กลางในการเผยแพร่ (Content Provider) แลกเปลี่ยนข้อมูล สารสนเทศ ความรู้ งานวิจัย และเทคโนโลยีต่างๆที่เป็นประโยชน์ต่อการเรียนการสอนและการวิจัย รวมทั้งการให้บริการต่อชุมชน อย่างเช่น โครงการการออกแบบและพัฒนาระบบฐานข้อมูลการพัฒนาชุมชนและท้องถิ่นเพื่อการบริ หาร ที่ทบวงมหาวิทยาลัยได้เริ่มให้มหาวิทยาลัยต่างๆให้ความสำคัญและสนใจต่อการ พัฒนาชุมชนตามนโยบายของรัฐบาลในปัจจุบัน ซึ่งเราก็ทราบกันดีว่าชุมชนเป็นหน่วยหลักในระดับรากหญ้าซึ่งมีความสำคัญต่อ การพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนที่เราเคยกล่าวถึงมาเสมออยู่ทุกยุคสมัย แต่เราไม่เคยลงไปแก้ไขปัญหาและช่วยเหลือกันอย่างเป็นระบบจริงๆกันอย่างเต็ม ที่เลย โครงการดังกล่าวนี้ได้เริ่มมีการทำการศึกษาวิจัยร่วมกันของมหาวิทยาลัยของ รัฐเกือบทั้งหมดซึ่งอยู่ในพื้นที่ทั่วประเทศตั้งแต่ปลายปี พ. ศ. 2545 นี้เป็นต้นไป ซึ่งเป็นแนวทางการศึกษาวิจัยที่มีการบูรณาการข้ามศาสตร์ ทั้งจากคณาจารย์จากกลุ่มทางด้านวิทยาศาสตร์และจากกลุ่มทางด้านสังคมศาสตร์ ที่มีโอกาสได้รับความรู้จริงจากการพัฒนาข้อมูลเชิงพื้นที่หรือภูมิสารสนเทศ ร่วมกันในพื้นที่จริงๆของประเทศเรา ด้วยการประยุกต์ใช้ ระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ (Geographic Information Systems : GIS) โดยข้อมูลต่างๆในเชิงพื้นที่ (Spatial Data) หรือ ภูมิสารสนเทศ (Geo-informatics) ที่เกี่ยวข้องกับโครงการ จะประกอบด้วยข้อมูลทั้งทางด้านทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม ประชากร เศรษฐกิจ และสังคม รวมไปถึงภูมิปัญญาท้องถิ่น ซึ่งมีระบบมาตรฐานกลางของข้อมูลใช้ร่วมกันทั้งประเทศ นอกจากนั้นจะยังได้มีการนำเอาภูมิสารสนเทศดังกล่าว มาวิเคราะห์ในเชิงพื้นที่ (Spatial Analysis) เพื่อใช้ประโยชน์ในเชิงบริหารจัดการพัฒนาชุมชนในแต่ละพื้นที่ลุ่มน้ำหลักของ แต่ละภูมิภาค โดยมีการบูรณาการทางด้านการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ เศรษฐกิจ และสังคม รวมไปถึงการจัดการด้านภูมิปัญญาท้องถิ่น ร่วมกันอย่างยั่งยืนและเหมาะสมตามสถานการณ์ด้วย โดยผู้ที่สนใจทั่วไป ก็จะสามารถเข้าถึงได้ในรูปแบบการเรียกดูข้อมูลดิจิตอลดังกล่าวผ่านเครือข่าย ED-Net ทั้งในรูปแบบแผนที่ดิจิตอลแบบเสถียร (Static Maps) และแบบแผนที่แบบพลวัตร (Dynamic Map Server) ของศูนย์ข้อมูลของทบวงมหาวิทยาลัย และสามารถนำไปใช้ในเชิงวิชาการและการวิจัย ซึ่งเป็นรูปแบบหนึ่งของ Online Content ของการเรียนการสอนผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์

จากตัวอย่างโครงการดังกล่าวข้างต้นที่มีการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ เชิงพื้นที่ หรือระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ (GIS) มาช่วยให้เกิดการบูรณาการข้ามศาสตร์อย่างเป็นพลวัตนั้น นอกจากจะเป็นการพัฒนาที่ยั่งยืน ที่เกิดจากความร่วมมือและการเข้ามามีส่วนร่วมของมหาวิทยาลัยทั้งหลายโดยมี ทบวงมหาวิทยาลัยที่เริ่มมีบทบาทมากกว่าผู้ประสานงานแบบเดิม มาเป็นศูนย์กลางในการเผยแพร่ (Content Provider) และการจัดการเชิงบูรณาการ ที่จะก่อให้เกิดกระบวนการแลกเปลี่ยนข้อมูล เทคโนโลยี และข่าวสาร ซึ่งถือเป็นกระบวนการในการสร้างความรู้โดยตรงอีกด้วย ลองคิดดูเล่นๆว่า ถ้าอาจารย์จากทุกมหาวิทยาลัย ได้มีโอกาสเรียนรู้และทำการวิจัยร่วมกันโดยให้นิสิตมีโอกาสได้รับการถ่ายทอด หรือได้ร่วมในโครงการด้วยแล้ว องค์ความรู้ที่จะเกิดขึ้นที่มีการประยุกต์ควบคู่ไปกับแนวทฤษฎีสากลที่มีใน ตำราต่างประเทศ (ที่เราชอบแปลเขามาทั้งเล่ม) จะแตกต่างไปจากองค์ความรู้แบบเดิมๆที่เคยสอนกันมามากแค่ไหน และจะสามารถนำเอาองค์ความรู้แบบใหม่นี้ไปใช้ประโยชน์จริงในการพัฒนาชุมชน อย่างยั่งยืนได้มากขึ้นซักเท่าใด นับว่าเป็นเรื่องที่น่าติดตามยิ่ง

ภาพของมหาวิทยาลัยต่างๆ ในอนาคตข้างหน้า โดยเฉพาะการเข้ามาของรูปแบบการเรียนการสอนผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ หรือ E - learning นั้น ความแตกต่างกันในด้านของปัจจัยพื้นฐาน (Infrastructure) จะมีให้เห็นน้อยลงไปทุกขณะ (โดยเฉพาะความแตกต่างทางด้านการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารหรือเนื้อหาวิชา) แต่จะยิ่งทวีความแตกต่างกันในความสามารถ ความถนัด หรือความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ไปจนถึงความได้เปรียบในทรัพยากรในท้องถิ่นที่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ ซึ่งเป็นความแตกต่างทางด้านทักษะของบุคลากร และความแตกต่างทางด้านภูมิศาสตร์ ซึ่งเอื้อต่อการเรียนรู้ในสาขาวิชานั้นๆ ซึ่งจะกลายเป็นภาพ (Brand) ของมหาวิทยาลัย ในสายตาของผู้บริโภค คือนักเรียน นักศึกษา (คงปฏิเสธไม่ได้ถึงปรากฏการที่ทุกๆสิ่งทุกๆอย่างทางด้าน IT ต่างหลั่งไหลไปยัง Silicon Valley หรือบรรดาอุตสาหกรรมรถยนต์ต่างมุ่งหน้าไปยังดีทรอย์ และวงการแฟชั่นที่หลั่งไหลไปสู่ปารีส) ซึ่งจะสร้างมูลค่าเพิ่มอย่างมีนัยสำคัญ เพราะเพียงเนื้อหา หรือข้อมูลข่าวสารที่ทางมหาวิทยาลัยป้อนให้กับนักศึกษานั้น ไม่ได้มีความแตกต่างกันอีกต่อไป จุดแตกต่างที่สำคัญจะอยู่ที่ ความรู้ (Knowledge) ซึ่งเป็นความรู้ในการเลือกใช้ข้อมูลข่าวสาร การวิเคราะห์ การตีความ และความรู้ในการนำข้อมูลข่าวสารไปใช้ประโยชน์ และการเข้าถึงแหล่งที่เป็นทรัพยากรในด้านต่างๆ ทั้งในด้านการพัฒนาและการแก้ไขปัญหาของแต่ละมหาวิทยาลัย ซึ่งขึ้นอยู่กับความรู้ความเชี่ยวชาญของบุคลากร ครู หรืออาจารย์ผู้สอนเป็นสำคัญ ซึ่งในอนาคตเนื้อหาหรือข้อมูลข่าวสารส่วนใหญ่ แทบทุกคนจะสามารถหาได้อย่างง่ายดายจากเครือข่ายอินเตอร์เน็ต หรือที่เรียกว่าสารสนเทศที่ปลายนิ้ว (Information at Finger tips) ส่วนที่เหลือ ที่แตกต่างกันก็คือ ความรู้ในการนำสารสนเทศ (Information) และภูมิสารสนเทศ (Geo-informatics) ไปใช้ในการวิเคราะห์ โดยเฉพาะการวิเคราะห์ในเชิงพื้นที่ (Spatial Analysis) ซึ่งเป็นพลังอำนาจในการบริหารจัดการที่แท้จริงนั่นเอง

สภาพการแข่งขันที่รุนแรงหลังจากการออกนอกระบบของมหาวิทยาลัย เป็นสิ่งที่ผู้บริหารและบุคลากรในมหาวิทยาลัยทั้งหลายควรตระหนัก และเร่งทำการสำรวจตรวจตราทรัพยากรต่างๆ ที่ตัวเองมีอยู่กันอย่างขนานใหญ่ ทั้งในด้านบุคลากร หน่วยงาน งบประมาณ รวมไปถึงอาคาร สถานที่ หลักสูตรซึ่งบางครั้ง กระจัดกระจาย ไม่เป็นระบบ ขาดการผนึกกำลัง (Synergy) ร่วมมือกันพัฒนาไปในทิศทางเดียวกัน ทั้งการร่วมมือกันภายในองค์กร และการร่วมมือกันระหว่างองค์กรพันธมิตร (Alliances) ซึ่งนอกจากจะไม่สามารถสร้างเป็นจุดขาย หรือความเชี่ยวชาญหลักได้ ยังถือเป็นจุดอ่อนที่ต้องรีบแก้ไขอย่างเร่งด่วน โดยเฉพาะแนวโน้มการขยายตัวขององค์กรในปัจจุบัน ที่พยายามลดไขมันหรือลดผลิตภาพส่วนเกิน จากการเป็นองค์กรขนาดใหญ่ (Big Organization)ที่อุ้ยอ้าย ไปสู่การเป็นเครือข่ายขนาดใหญ่ (Big Network) ที่กระฉับกระเฉงและทรงพลัง ซึ่งในยุคของ Information Technology ระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ (GIS) จะกลายเป็นเครื่องมืออันสำคัญ ที่จะช่วยเผยให้เห็นถึงรูปแบบ การกระจายตัวของทรัพยากรขององค์กรในด้านต่างๆ รวมไปถึงทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม ประชากร เศรษฐกิจ และสังคม ฯลฯ ซึ่งจะเพิ่มศักยภาพในการเรียนรู้ การเข้าถึงสิ่งต่างๆ รอบตัว การวางแผนการใช้ประโยชน์จากแหล่งทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมรอบตัวอย่างชาญฉลาด และเป็นพลวัต ซึ่งระบบเศรษฐกิจบนฐานแห่งความรู้ (Knowledge Economy) เฉกเช่นในปัจจุบัน ได้เปิดกว้างไว้ให้แล้วสำหรับสังคมแห่งความรู้ (Knowledge Society) ที่แพ้ - ชนะ ตัดสินกันด้วยความสำเร็จในการบ่มเพาะ การให้การศึกษากับเหล่าเยาวชน (นักเรียน นิสิต นักศึกษา) ที่เป็นทรัพยากรสำคัญของชาติ ว่าใครจะทำได้ดีและมีประสิทธิภาพมากกว่ากัน